ศุลกากร แจง หิ้วสินค้าไม่ถึง 2 หมื่นบาทก็เสียภาษีได้ เหตุเป็นของลักษณะเชิงพาณิชย์ พร้อมเผยวิธีการคำนวณภาษี
จากกรณีที่ช่วงหลังมานี้มีผู้ใช้เฟซบุ๊กสงสัยในเรื่องการถูกเก็บภาษีอากร หลังจากกลับมาจากต่างประเทศ แม้สินค้านั้นจะไม่ถึง 2 หมื่นบาทก็ตาม
ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 เฟซบุ๊ก กรมศุลกากร : The Customs Department มีการโพสต์เพิ่มเติมถึงหลักเกณฑ์การเก็บภาษีว่า ต่อให้มูลค่าไม่เกิน 2 หมื่นบาท แต่เป็นสินค้าที่ต้องเสียภาษีอากร ก็มีโอกาสที่ถูกเก็บภาษีได้เช่นกัน มีรายละเอียดทั้งหมด ดังนี้
กรมศุลกากรให้ข้อมูลกรณีการนำเข้าของติดตัวผู้โดยสารทางท่าอากาศยาน
จากกรณีที่มีผู้โดยสารลงสื่อโซเชียลถึงการจัดเก็บภาษีสำหรับการนำเข้าของติดตัวผู้โดยสารทางท่าอากาศยานนั้น
กรมศุลกากร จึงขอแจ้งให้ทราบเกี่ยวกับสิทธิของผู้โดยสารในการนำของติดตัวเข้ามาพร้อมกับตนทางท่าอากาศยาน กล่าวคือ ผู้โดยสารได้รับยกเว้นอากรสำหรับของส่วนตัวเพื่อใช้เองหรือใช้ในวิชาชีพมูลค่าไม่เกิน 20,000 บาท ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นของต้องห้าม ของต้องกำกัด และไม่มีลักษณะทางการค้า
หากผู้โดยสารนำของที่มีมูลค่าเกิน 20,000 บาท หรือเป็นของที่มีลักษณะเชิงพาณิชย์แม้จะมีมูลค่าไม่เกิน 20,000 บาท ของดังกล่าวเป็นของต้องเสียภาษีอากร ซึ่งผู้โดยสารสามารถมาสำแดงของเพื่อเสียภาษีอากร ที่ช่องตรวจมีของต้องสำแดง (ช่องแดง) และหากของนั้นเป็นของต้องกำกัด ของนั้นต้องได้รับอนุญาตให้นำเข้าจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน โดยอัตราภาษีอากรนำเข้าจะแตกต่างกันตามชนิดและประเภทสินค้า เช่น กระเป๋า 20% นาฬิกา 5% เครื่องสำอาง 30% เข็มขัด 30% เป็นต้น และรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% โดยมีวิธีการคำนวณคือ
ราคาสินค้า x อัตราภาษีขาเข้า = อากรขาเข้า
(ราคาสินค้า + อากรขาเข้า) x อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% = ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ค่าภาษีทั้งหมดที่ต้องชำระ = อากรขาเข้า + ภาษีมูลค่าเพิ่ม
โดยกรมศุลกากรเน้นอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารโดยใช้ระบบบริหารความเสี่ยง (Risk Management) มาใช้ในการตรวจสอบกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสาร
อย่างไรก็ตาม หากผู้โดยสารท่านใดคิดว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการจัดเก็บภาษีของเจ้าหน้าที่ศุลกากร หรือพบเห็นพฤติการณ์เกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ศุลกากร สามารถร้องเรียนได้ตามช่องทางต่าง ๆ ที่ท่านสะดวก ได้แก่ โทรศัพท์สายด่วนรับเรื่องร้องเรียน 1332 ร้องเรียนผ่านทาง Application LINE ID: @customshearing ร้องเรียนด้วยตนเองผ่านศูนย์ประสานงานแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน ตามโครงการ “ระฆังศุลกากร” ของแต่ละส่วนราชการที่ท่านใช้บริการ รวมถึงส่งไปรษณีย์มาที่กรมศุลกากร หรือส่ง E-mail มาได้ที่ ctc@customs.go.th นอกจากนี้ท่านยังสามารถมาร้องเรียนด้วยตนเองที่กลุ่มคุ้มครองและส่งเสริมจริยธรรม ณ กรมศุลกากร หรือร้องเรียนผ่านสำนักนายกรัฐมนตรี GCC 1111 นอกจากนี้ท่านยังสามารถร้องเรียนไปที่หน่วยราชการอื่น เช่น ป.ป.ช./สตง. หรือร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนได้อีกด้วย
ทั้งนี้ ท่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปฏิบัติพิธีการศุลกากรของติดตัวผู้โดยสารที่นำติดตัวเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรพร้อมกับตนทางท่าอากาศยาน ได้ตามประกาศกรมศุลกากร ที่ 60/2561 หรือหากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมโปรดติดต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากร ณ จุดปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ศุลกากรสนามบินนั้น ๆ